ฐัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศหลายด้าน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง

สมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยมีความปรารถนาจะเห็นการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อให้บังเกิดผลดีและประโยชน์สุขต่อประชาชน และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองโดยรวม

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแนวทางปฏิรูปบ้านเมืองชัดเจนเช่น มาตรา 68 กำหนดว่า “รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินควร”

นอกจากนั้น มาตรา 76 กำหนดว่า รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐ ต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทําบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนรวมตลอดทั้งพัฒนา เจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือการกำหนดให้รัฐและราชการให้ “บำบัดทุกข์ และบำรุงสุข” แก่ประชาชน

ดังนั้นในฐานะที่สมาชิกสมาคมนักปกครองฯเคยเป็นคนมหาดไทยและหลายคนก็ยังรับราชการอยู่ ได้รับการอบรมสั่งสอนว่า ต้องทำหน้าที่เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน” ให้ดีที่สุด จึงขออนุญาตแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตามกฎหมายนี้ด้วย

พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ.2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ.2550 กำหนดในมาตรา 30 ว่า กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอํานวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง พัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกําหนดให้

ในอดีตบทบาทมหาดไทยชัดเจน มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองได้จริง ไม่ว่าปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย อาชญากรรม ความมั่นคง การค้ามนุษย์ เมื่อมีปัญหา กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานบูรณาการทุกส่วนราชการได้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าปัญหาเกิดในส่วนกลางหรือภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจจังหวัด หรืออธิบดีกรมตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลร่วมมือ แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกรมตำรวจสังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่ามีเอกภาพในการบังคับบัญชาชัดเจน รวดเร็ว

เกือบ 20 ปีแล้ว หลังจากรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจไปจัดตั้งสำนักงานตำรวจ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2541 และพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)เป็นหัวหน้าส่วนราชการ และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจ รองจากนายกฯ

ในระดับจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นตรงต่อผบ.ตร. มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของตำรวจในจังหวัดนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการหรือมติคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดไม่ต้องรับฟังคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ ทำให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติในการรักษาความสงบเรียบร้อย การอำนวยความเป็นธรรมให้ประชาชนของจังหวัดเป็นอย่างมาก

ที่ปรากฏบ่อยครั้งคือ ผู้ว่าฯ นายอำเภอต้องออกจับกุมบ่อนพนัน สถานบริการ แม้แต่การค้ามนุษย์ด้วยตนเอง โดยใช้กำลังปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและอาสารักษาดินแดน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่จับกุมการกระทำผิดกฎหมาย ที่สำคัญ ทำให้มีปัญหาอุปสรรคมากมายในการสร้างความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงและเอกภาพในการจัดระเบียบสังคม ป้องกันปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมของจังหวัดต่างๆ เนื่องจากมหาดไทยไม่สามารถบังคับบัญชาให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้ และบางครั้งตำรวจบางคนกลับเป็นผู้สร้างปัญหาดังกล่าวเสียเอง ไม่รับผิดชอบต่อพื้นที่ เพราะถือว่าเป็นข้าราชการส่วนกลาง ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของจังหวัด

ประเทศไทยมีประชากรกว่า 65 ล้านคน กว่า 80% หรือกว่า 50 ล้านคน อาศัยในภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ ยังมีสภาพเป็นชนบทห่างไกล ประชาชนบางส่วนยังขาดแคลน และเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย กระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีผู้ว่าราชการจังหวัด กรมการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและอาสารักษาดินแดน ต้องรับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยโดยขาดกำลังสำคัญคือตำรวจ จึงเห็นว่า รัฐบาลต้องสนใจสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคและราชการท้องถิ่น ไม่ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศตามจังหวัดต่างๆอยู่ในสภาพเสี่ยงภัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม มีคุณภาพชีวิตไม่ดี ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ไม่ยากนัก

ขอเรียนว่า เวลานี้เป็นช่วงเหมาะสมที่สุดที่จะปฏิรูปการอำนวยความเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมาย การอำนวยความสะดวกและบริการประชาชนเรื่องการสอบสวนคดีอาญาบางประเภทที่เป็นการบริการประชาชน และจัดการเพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้สังคมและบ้านเมือง

โดยเฉพาะการปฏิรูปงานตำรวจเพื่ออำนวยความเป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สร้างความเป็นธรรม ความสงบเรียบร้อย และความปกติสุข ตลอดจนสร้างความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง ให้สมกับคำขวัญว่า “เราอยู่ไหน ประชาอุ่นใจทั่วกัน”

ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 260 กำหนดชัดเจนว่า ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน1 ปี

ปัญหาว่าจะปฏิรูปอย่างไร

รัฐธรรมนูญมาตรา 257 กำหนดว่า การปฏิรูปประเทศต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้ 1.ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนายั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนา ด้านจิตใจ 2.สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ 3.ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขอเสนอว่า สำหรับองค์กรตำรวจควรได้รับการปฏิรูป เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การสร้างความสงบเรียบร้อย สังคมมีความสงบสุขและประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนี้

1.ปรับปรุงการบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นราชการส่วนกลาง ให้เป็นการบริหารทั้งราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สำหรับหน่วยงานตำรวจที่ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำพื้นที่ในเขตจังหวัดในส่วนภูมิภาค ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2.กำหนดให้การบริหารราชการตำรวจตั้งแต่ตำรวจภูธรจังหวัดลงไปถึงอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด กำกับดูแลโดยคณะกรรมการตำรวจภูธรจังหวัด(ก.ตร.จังหวัด) เพื่อให้การปฏิบัติงานที่จังหวัดมีเจ้าภาพและความรับผิดชอบทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการส่วนภูมิภาค ฝ่ายปกครอง ตำรวจและประชาชน จะทำให้ประชาชนอุ่นใจ ให้ความร่วมมือและเชื่อมั่นเกียรติศักดิ์ตำรวจ ปัญหาอาชญากรรมและวิกฤติศรัทธาในองค์กรตำรวจจะลดลงและหมดไป

3.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับมาอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นเดิม เพื่อจะได้มีรัฐมนตรีคอยกำกับดูแลและรับผิดชอบโดยตรงอย่างใกล้ชิด

4.ปรับปรุงการบริหารงานบุคคล การบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทุกนาย ให้ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างมั่นคง ยึดประโยชน์บ้านเมืองและการคืนความสุขให้ประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อทำให้ตำรวจทุกนายมีขวัญกำลังใจที่ดี ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และมั่นใจทำดีต้องได้ดี ทำให้คนดีได้ปกครอง ดูแลบ้านเมือง

5.ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจภูธรจังหวัด ให้เหมาะสมกับอัตรากำลังและหน้าที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะบทบาทการบังคับใช้กฎหมายในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติโดย

5.1 ถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ซึ่งไม่ส่งผลต่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม หรือเป็นอาชญากรรมไม่ร้ายแรง หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและใช้อำนาจทางปกครอง แต่กฎหมายกำหนดให้มีโทษทางอาญาที่ตำรวจรับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ ไปให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับไปทำ เพื่อทำให้มีอัตรากำลังตำรวจกลับมาปฏิบัติภารกิจหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด และเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง ดังนี้

5.1.1 ภารกิจและหน้าที่หลักที่บัญญัติในมาตรา 6 มาตรา 7 และมาตราอื่นๆ แห่งพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติพ.ศ.2547 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการต่อไป ได้แก่

รักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์พระราชินีและรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ,ดูแลควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานเฉพาะของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา,ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาหรือการป้องกันอาชญากรรม การสืบสวน การจับกุม การปราบปรามและการสอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายที่มีโทษทางอาญา,การรักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร,ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

5.1.2 ภารกิจหน้าที่ใดที่ไม่ใช่ภารกิจหลักตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ ให้โอนไปยังหน่วยงานหรือส่วนราชการที่รับผิดชอบหรือเหมาะสมดำเนินการ เช่น งานรับผิดชอบดูแลการจราจรในพื้นที่เขตเมือง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ กรุงเทพมหานครหรือเทศบาล เมืองพัทยา หรือองค์การบริหารส่วนตำบล,งานจราจรระหว่างเมือง ให้กรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงไปดูแล,งานตรวจคนเข้าเมือง งานทะเบียนคนต่างด้าว มอบกลับคืนกระทรวงมหาดไทยซึ่งเคยรับผิดชอบ,งานตำรวจรถไฟ มอบให้การรถไฟ,งานตำรวจป่าไม้ มอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ,งานตำรวจน้ำมอบให้กรมเจ้าท่า,งานการทะเบียน การอนุมัติและการอนุญาตให้ประกอบกิจการต่างๆ เช่น ต่ออายุใบอนุญาตคนต่างด้าว โอนภารกิจนี้กลับไปให้ กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ,

โอนภารกิจการจับและการสอบสวนในลักษณะคู่ขนานโดยกรณีหน่วยงานใดรับคำร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ หรือจับ ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการสอบสวนตามกลุ่มภารกิจจัดระเบียบสังคม เช่น โอนภารกิจให้กรมการปกครอง ตามกฎหมายเกี่ยวกับการปกครอง การจัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่น พ.ร.บ.การพนัน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ร.บ. สถานบริการ ฯลฯ, โอนภารกิจการจับและการสอบสวนตามประมวลกฎหมายรัษฎากรให้กรมสรรพากร เป็นต้น

เหตุผลที่สำคัญประกอบการพิจารณาโอนภารกิจตำรวจให้หน่วยงานอื่นก็คือ คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2549 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 โดยมี พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานฯได้เสนอรายงานการศึกษาวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ เรื่องความเป็นไปได้ในการโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้หน่วยงานอื่นของรัฐรับผิดชอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

5.2 ปรับปรุงภารกิจด้านการสืบสวนและสอบสวนความผิดอาญาระหว่างพนักงานฝ่ายปกครองกับข้าราชการตำรวจเสียใหม่
ให้เหมาะสม เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนและสอบสวนความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือกฎกระทรวงได้อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมายและบริการประชาชน

พันโทกมล ประจวบเหมาะ
นายกสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย

 

สถิติผู้เยี่ยมชม

0295287
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
13
53
351
562
202
1549
295287

12.04%
21.40%
5.61%
1.79%
0.13%
59.02%
Online (15 minutes ago):1
one guest
no members

Your IP:18.191.46.36