มีผู้สนใจจะขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมนักปกครองจำนวนหนึ่ง และเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกได้มักจะมีคำถามว่าเป็นสมาชิกสมาคมนักปกครองแล้วได้อะไร ซึ่งก็เป็นคำถามที่ดีและควรได้รับคำตอบที่กระจ่างชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจจะเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมจึงได้ใช้โอกาสนี้ที่จะตอบคำถามนี้แก่ผู้ที่สนใจดังกล่าว

บทความเรื่อง

เป็นสมาชิกสมาคมนักปกครองแล้วได้อะไร

          มีผู้สนใจจะขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมนักปกครองจำนวนหนึ่ง และเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกได้มักจะมีคำถามว่าเป็นสมาชิกสมาคมนักปกครองแล้วได้อะไร ซึ่งก็เป็นคำถามที่ดีและควรได้รับคำตอบที่กระจ่างชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจจะเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคมจึงได้ใช้โอกาสนี้ที่จะตอบคำถามนี้แก่ผู้ที่สนใจดังกล่าวแล้ว  แต่อย่างไรก็ดีก่อนอื่นใดท่านผู้สนใจจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่ไปที่มาของกระทรวงมหาดไทยอันเป็นที่มาของการจัดตั้งสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยขึ้นมาเพื่อเกื้อหนุนให้กระทรวงมหาดไทยได้ดำรงอุดมการณ์และจุดมุ่งหมายให้สามารถดำรงคงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไปเพราะกระทรวงมหาดไทยคือชีวิตของชาติกระทรวงนี้ตั้งขึ้นมา ด้วยเหตุผลหลายประการที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นมาโดยมีอุดมคติหรือหลักนิยมของหน่วยนี้คือบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน ยังมีภารกิจที่สำคัญยิ่งคือมีความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติ และความมั่นคงภายในประเทศของเรา ให้ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระอิสรภาพและเป็นราชอาณาจักร อันมั่นคงรุ่งเรืองอยู่ชั่วนิรันดร์ สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 1 ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ นั่นหมายถึงว่าประเทศไทยมีระบบการปกครองที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่จัดให้มีราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทภารกิจในการดูแลการปกครองและบริหารประเทศ ให้เป็นไปตามนี้ ทั้งนี้เพื่อความเป็นปึกแผ่น การมีเอกภาพที่สามารถสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นดำรงอยู่เป็นราชอาณาจักรไทยตลอดไป ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน 128 ปีแล้ว ที่กระทรวงมหาดไทยรับบทบาทภารกิจ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการตั้งกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 และได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นพระองค์แรก

          ผู้เขียนใคร่ขอขยายความเพิ่มเติมว่าการจัดตั้งกระทรวงมหาดไทย มิใช่เกิดขึ้นเพราะคิดอยากจะตั้ง           แต่มีเหตุปัจจัยที่สำคัญหลายประการ ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการปกครอง และระบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มีทั้งสาเหตุภายในและสาเหตุภายนอก สำหรับสาเหตุภายนอกนั้น ได้แก่ภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส  เป็นต้น ที่ได้เข้ามามีบทบาทกับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมากในขณะนั้น ทำให้หลายประเทศได้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ยกเว้นแต่ประเทศไทย แต่ประเทศสยามหรือประเทศไทยของเราต้องสูญเสียดินแดนให้ต่างชาติตะวันตกไปเกือบหรือประมาณ 5 แสนตารางกิโลเมตรซึ่งเท่ากับพื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศไทยที่เหลืออยู่ในปัจจุบันแต่เรายังรักษาอิสรภาพและเอกราชเอาไว้ได้ หากรัชกาลที่ 5 ไม่ปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะระบบการปกครองประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยมีการจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ถึง 12 กระทรวง (รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยด้วย) และยกเลิกระบบเดิมคือระบบการบริหารราชการแบบจตุสดมภ์ ที่ได้ใช้สืบต่อกันมานานนับร้อยปีเป็นระบบแบบใหม่ตามอย่างชาติตะวันตกที่มีกระทรวงต่างๆ ประเทศไทยเราได้ตั้งขึ้น 12 กระทรวงดังกล่าวแล้ว การปกครองระบบจตุสดมภ์ถือเป็นสาเหตุภายในที่สำคัญที่ต้องการการปฏิรูปในปี พ.ศ. 2435 ด้วย

          อนึ่ง การวางรูปแบบการบริหารราชการทั้งส่วนกลางที่แบ่งเป็นกระทรวงตามภารกิจของรัฐออกเป็น 12 กระทรวงแล้ว ในราชการส่วนภูมิภาคได้มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นดูแลหัวเมืองต่าง ๆ และวางรากฐานการปกครองท้องถิ่นโดยแบ่งเป็น อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และส่วนท้องถิ่นจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก และโครงสร้างการปกครองการบริหารประเทศดังกล่าวยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้  แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมบ้างในภายหลังตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

          กล่าวโดยสรุป ก็พอจะมองเห็นว่ากระทรวงมหาดไทยมีบทบาทภารกิจที่สำคัญต่อประเทศชาติมากเพียงใด ในการดูแลความทุกข์สุขของประชาชน การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และการพัฒนาด้านต่าง ๆสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติโดยเฉพาะในด้านความมั่นคงภายในประเทศและด้วยความสำคัญนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2527 และดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย นโยบายในอันที่จะให้เป็นองค์กรที่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการด้วย เพื่อเป็นหน่วยงานในลักษณะที่เรียกว่า watch dog หรือสุนัขเฝ้าบ้าน เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยได้คงดำรงอยู่ซึ่งความมุ่งหมายตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ให้ปฏิบัติภารกิจอย่างมีผลสำเร็จ มีประสิทธิภาพและมีผลตอบสนองจากประชาชนในทางที่ดี และเพื่อให้สมาคมที่เป็นเสมือนคลังสมองของกระทรวงมหาดไทยในการเฝ้าติดตามดูแลเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรร ที่จะให้เป็นสถาบันการปกครองที่มีนักปกครองเป็นมืออาชีพมีความสามารถและเป็นที่ยอมรับเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนและสังคมตลอดไป สมาคมนักปกครองฯ มิใช่องค์กรภาครัฐ แต่เป็นองค์กรเอกชนที่จัดตั้งโดยมีกฎหมายรองรับและปฏิบัติงานในเชิงวิชาการและการศึกษาปัญหาข้อบกพร่องต่าง ๆ เพื่อนำเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในสังกัดและบุคลากรที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานให้เข้าตาประชาชน

          สำหรับคำถามที่ว่า สมาคมนักปกครองได้ให้อะไรกับสมาชิกและต่อสังคมอย่างไรบ้างนั้น ผู้เขียนใคร่ขอเสนอในประเด็นที่สำคัญสำคัญให้ได้ทราบ ในบางประการต่างๆดังนี้

          1. สมาคมมีสมาชิกที่เป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการปกครองและในการบริหารประเทศ และได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองในทุกมิติทั้งที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านบุคลากร ของกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นนักปกครองทั้งการปกครองท้องที่และท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภูมิภาคที่เป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และองค์กรส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ในฐานะที่ต้องปฏิบัติงานพร้อมกันอย่างสมานฉันท์ กลมกลืน รวมทั้งช่วยกำกับดูแลสอดส่องการปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบและสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน สังคมได้ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วทางสมาคมเห็นว่าเป็นไปด้วยดีและปฏิบัติงานอยู่ในกรอบของกฎหมายและภารกิจอย่างก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของสังคมได้

          2. สมาคมได้ติดตามการเลื่อนขั้นตำแหน่งระดับต่างๆของบุคลากรในระดับต่าง ๆ เช่นในระดับของนายอำเภอแต่เดิมในอำเภอถูกจัดอยู่ในระดับ 8 แต่สมาคมเห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะนายอำเภอรับผิดชอบในพื้นที่และประชาชนในพื้นที่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นจึงควรยกระดับนายอำเภอที่มีความอาวุโสให้เป็นระดับ 9 เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่กำลังพลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยโดยสมาคมได้นำเสนอให้ข้อมูลกับทางสำนักงาน ก.พ. ได้ชัดเจนขึ้นและสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาทบทวนใหม่ จึงได้อนุมัติให้นายอำเภอในระดับที่สูงขึ้นจากระดับ 8 เป็นระดับ 9 ได้สำเร็จและเป็นครั้งแรกที่ได้รับอนุมัติถึง 102 อัตราและได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

          3.ในสมัยรัฐบาล คสช. ได้ดำเนินการโดยมีคำสั่งให้มีศูนย์ดำรงธรรมระดับจังหวัดขึ้นทั่วประเทศ สมาคมได้สนใจติดตามผลงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และได้ตั้งคณะทำงานติดตามผลในพื้นที่จริงปรากฏว่าศูนย์ดำรงธรรมปฏิบัติงานได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ว่าไม่ทั่วถึง ควรมีการขยายศูนย์ดำรงธรรมในระดับอำเภอด้วยและจึงได้เสนอแนะต่อกระทรวงและรัฐบาลทำให้มีศูนย์ดำรงธรรมระดับอำเภอเกิดขึ้นด้วยทั่วประเทศ นับว่าเป็นผลดีต่อการอำนวยการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทั่วประเทศ

          4. เกี่ยวกับด้านความมั่นคงภายในและปัญหาชายแดนด้านต่าง ๆ ของประเทศมีปัญหาอยู่มากมายที่เกี่ยวข้องกับงานกระทรวงมหาดไทยและคนของมหาดไทยไม่สามารถปฏิเสธบทบาทนี้ออกไปได้ ตรงข้ามกับต้องมองว่ากระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะนักปกครองที่อยู่ชายแดนจะต้องมีบทบาทมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังร่วมกับฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหารในพื้นที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัดมีปัญหาเรื่องความมั่นคงภายใน การรักษาความสงบเรียบร้อย และปัญหาจากสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้สมาคมจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานทำการศึกษาวิเคราะห์และเสนอแนะรวมทั้งแต่งตั้งบุคลากรของสมาคมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่และเคยแก้ปัญหาสำเร็จมาแล้ว ร่วมกันศึกษาและทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะ พ.ร.บ. ศอ.บต. 2553 โดยสมาคมได้ส่งวิทยากรเข้าร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเป็นคณะทำงานในการร่างกฎหมายนี้        จนในสุดท้ายได้ออกเป็นพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผลสำเร็จ และมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน สมาคมถือว่าได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการให้ข้อพิจารณาเสนอแนะในเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญด้วย

          5. ในเรื่องเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเรื่องการยกร่างกฎหมายสำคัญ ๆที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบุคลากรของสมาคมนักปกครองฯ ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณายกร่างกฎหมายต่าง ๆ อยู่หลายฉบับและในห้วงเวลาต่าง ๆ ที่มีการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้ และโดยเฉพาะในการยกร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น           โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสงค์จะให้มีประมวลกฎหมายท้องถิ่นเพียงฉบับเดียว ทางสมาคมได้ส่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เข้าร่วมพิจารณาดำเนินการมาโดยตลอด แม้ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายท้องถิ่นยังไม่มีผลประกาศใช้ก็ตาม แต่สมาคมถือว่าได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาดำเนินการมาโดยตลอดและ เข้าร่วมในการพิจารณาให้ความคิดเห็นในโอกาสต่อไปด้วย

          6. เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายปกครองท้องที่ ทางสมาคมมีจุดยืนว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับท้องถิ่น ที่มิใช่นักการเมืองท้องถิ่น จึงควรอยู่ในตำแหน่งจนครบเกษียณอายุราชการเหมือนข้าราชการพลเรือนโดยทั่วไป และจุดยืนนี้ทางสมาคม สนับสนุนมาโดยตลอดและในขณะปัจจุบันนี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศสามารถอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ได้จนเกษียณอายุราชการคืออายุครบ 60 ปีสมาคมได้อยู่ในฐานะผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ต่อไปและยังสนับสนุนให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเขตเทศบาลต่างๆ ทั้ง เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร และได้กำลังศึกษาเสนอแนะกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ต่อไป ขณะนี้ก็ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

          7. การส่งเสริมความรู้ทางด้านวิชาการของฝ่ายปกครอง เคยได้จัดส่งวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มากด้วยประสบการณ์ไปเป็นผู้บรรยายถ่ายทอดให้ความรู้แก่นักเรียนในอำเภอ ปลัดอำเภอในวิทยาลัยการปกครองรวมทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านด้วย รวมทั้งส่งวิทยากรไปร่วมเสวนาและให้ความเห็นทางวิชาการแก่องค์กรหรือหน่วยงานภายนอกด้วย

          ผลงานทั้ง 7 ประการที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สมาคมนักปกครองฯ ได้ดำเนินการไปยังมีเรื่องราวอีกหลายประการที่เป็นผลดีต่อมวลสมาชิกและสังคมไทย โดยส่วนรวมที่ไม่สามารถลึกลงไปในรายละเอียดได้ ในที่นี้จึงมิได้กล่าวให้ครอบคลุมถึง ดังนั้นเมื่อกล่าวโดยภาพรวมหรือโดยสรุปรวบยอด ก็คือการตอบคำถามที่ว่าเป็นสมาชิกสมาคมนักปกครองแล้ว จะได้อะไรนั้น สิ่งที่ได้ก็คือคนมหาดไทยทุกระดับสังคมและประชาชนรวมถึงประเทศชาติโดยส่วนรวม ที่จะได้รับประโยชน์ และเมื่อประชาชนสังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์แล้ว ย่อมส่งผลดีแก่บุคคลแต่ละคนที่จะได้รับประโยชน์ไปด้วยอย่างแน่นอนแม้จะตีค่าเป็นทรัพย์สินเงินทองที่เป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจไม่ได้ แต่ผลตอบแทนทางด้านจิตใจและด้านขวัญกำลังใจของผู้เกี่ยวข้อง ย่อมได้ประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย การเป็นสมาชิกของสมาคมจึงเป็นการสนับสนุนภารกิจอันมีเกียรติที่เข้ามาทำงานให้แก่ส่วนรวม โดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ

          จึงเรียนชี้แจงมาเพื่อได้โปรดพิจารณาเข้าใจถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของสมาคมมา ณ โอกาสนี้ด้วยและสมาคมต้องขอขอบคุณสำหรับท่านทั้งหลาย ที่กรุณาทำงานเสียสละเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม มาในโอกาสนี้ด้วย

                                                                                เรียบเรียงโดย

                                                                          นายประยูร    พรหมพันธุ์

                                                                   อุปนายกสมาคมนักปกครองฯ ฝ่ายวิชาการ

                                                                                6 มกราคม 2563

 

สถิติผู้เยี่ยมชม

0295422
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
41
26
109
377
337
1549
295422

Forecast Today
72

12.04%
21.42%
5.61%
1.79%
0.14%
59.00%
Online (15 minutes ago):1
one guest
no members

Your IP:3.17.150.163